วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทที่ 4 กฎหมายว่าด้วยสัญญา


บทที่ 4  กฎหมายว่าด้วยสัญญา
             สัญญาเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งประเภทนิติกรรมหลายฝ่าย  ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ประกอบ ด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ได้แสดงเจตนาถูกต้องตรงกันและก่อให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมาย  กล่าวคือ  ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา ตัวอย่างเช่น สัญญาซื้อขายซึ่งเป็นข้อตกลงที่บุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขาย เป็นต้น
ลักษณะของสัญญา
             สัญญาย่อมมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
             1.    ต้องมีคู่สัญญา สัญญาเป็นนิติกรรมซึ่งมีบุคคลตั้งแต่  2  ฝ่ายขึ้นไปเข้ามาเกี่ยวข้อง  ฝ่ายหนึ่งคือผู้แสดงเจตนาโดยเสนอที่จะทำสัญญา  เรียกว่า  ผู้เสนอ  และอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ที่ตอบรับคำเสนอของผู้เสนอ  เรียกว่า  ผู้สนองคำว่า 2 ฝ่ายนั้น มิได้หมายถึงบุคคลเพียง 2 คนเท่านั้นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายอาจ ประกอบด้วยบุคคลมากกว่า  1  คนก็ได้
             2.    ต้องมีการตกลงกัน การแสดงเจตนาของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องถูกต้องตรงกันจึงจะเกิดสัญญาขึ้นได้ กล่าวคือ ทั้งผู้เสนอและผู้สนองมีเจตนาตรงกันในการทำสัญญา
             3.    ต้องมีวัตถุประสงค์ การแสดงเจตนาของบุคคลในสัญญาต้องก่อให้เกิดผลผูกพันถูกต้องตามกฎหมาย  ข้อนี้เป็นลักษณะสำคัญเช่นเดียวกับนิติกรรม  กล่าวคือ ต้องมีเจตนาที่จะก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ  ดังนั้น การแสดงเจตนาที่มิได้ประสงค์ให้ผูกพันตามกฎหมายอย่างจริงจัง เป็นต้นว่า การแสดงน้ำใจต่อกันตามมารยาทหรือเพียงล้อเล่น  ย่อมไม่ก่อให้ เกิดสัญญาแต่อย่างใด  เช่น  พ่อรับปากลูกว่าหากลูกสอบได้ที่  1  จะซื้อรถให้  หรือการพูดกับเพื่อนว่า  เย็นนี้เลิกเรียนจะพาไปเลี้ยงอาหาร  ลักษณะเช่นนี้มิได้มีเจตนาจริงจังในอันที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย
การเกิดของสัญญา
             สัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกันทุกฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายผู้เสนอและฝ่ายผู้สนอง
             1. คำเสนอ
             คำเสนอเป็นการแสดงเจตนาของผู้เสนอในอันที่จะทำสัญญากับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยการยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายทราบด้วยข้อความที่ชัดเจนแน่นอนว่าผู้เสนอประสงค์สิ่งใด เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งทราบแล้วและเข้าใจก็จะสนองตอบโดยเข้าทำสัญญาด้วย หากคำเสนอไม่มีความชัดเจนเพียงพอ แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะสนองรับคำเสนอ  สัญญาก็อาจไม่เกิดขึ้น  ลักษณะของคำเสนอมีดังนี้ 
             1.1  เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา
             1.2  มีการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง
             1.3  ต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอน มิฉะนั้นอาจเป็นเพียงคำปรารภหรือคำเชิญชวนเท่านั้น
             1.4  เป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงหรือต่อสาธารณชนก็ได้
             คำสนอง 
             คำสนองคือ  การแสดงเจตนาตอบรับคำเสนอ ซึ่งผู้ได้รับคำเสนอตกลงที่จะทำสัญญาตามคำเสนอนั้น คำสนองจะต้องมีข้อความที่ถูกต้องตรงกับคำเสนอในสาระสำคัญทุกประการ สัญญาจึงจะเกิดขึ้นได้  และคำสนองจะมีผลเมื่อผู้เสนอได้ทราบถึงคำสนองแล้ว  ลักษณะของคำสนอง  มีดังนี้ 
             1.1  เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา
             1.2  เป็นการแสดงเจตนาตอบรับคำเสนอโดยชัดแจ้ง  โดยปริยาย  หรือโดยการนิ่งก็ได้
             1.3  ต้องมีข้อความที่ชัดเจนปราศจากเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
             1.4  ต้องแสดงเจตนาต่อผู้เสนอเท่านั้น
ประเภทของสัญญา
             สัญญาแบ่งออกได้หลายประเภท  พอสรุปได้ดังนี้
             1. สัญญามีค่าตอบแทนและสัญญาไม่มีค่าตอบแทน       
             การแบ่งในลักษณะนี้ถือเอาค่าตอบแทนที่คู่สัญญาให้แก่กันเป็นข้อพิจารณาสัญญามีค่าตอบแทน  หมายถึง  สัญญาที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างได้รับค่าตอบแทนจากอีกฝ่ายการตอบแทนนั้นอาจเป็นการตอบแทนด้วยเงิน  ทรัพย์สิน  หรือการกระทำบางอย่างก็ได้  เช่น  สัญญาซื้อขาย ผู้ขายย่อมได้รับชำระราคาสินค้าเป็นค่าตอบแทน ส่วนผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ในสินค้านั้น  หรือการใช้บริการรถแท็กซี่ คนขับรถแท็กซี่จะได้รับเงินค่าโดยสาร ส่วนผู้โดยสารจะได้รับบริการส่งไป ยังจุดหมายปลายทาง หรือสัญญากู้ยืมเงินมีดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน เป็นต้น  สัญญาไม่มีค่าตอบแทน  หมายถึง  สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  โดยที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ได้รับประโยชน์อย่างใดจากสัญญา  เช่น  สัญญาให้โดยเสน่หา  สัญญายืมทรัพย์หรือฝากทรัพย์ที่ไม่มีค่าตอบแทน  เป็นต้น
             2. สัญญาต่างตอบแทนและสัญญาไม่ต่างตอบแทน
             การแบ่งในลักษณะนี้เป็นการแบ่งโดยพิจารณาถึงหน้าที่ที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีต่อกัน สัญญาต่างตอบแทน  คือ  สัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ที่ต้องทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง หมายความว่า  ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ซึ่งกันและกัน และต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้พร้อมกันไปในตัว  เช่น  สัญญาซื้อขาย  ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  กล่าวคือ  ผู้ขายเป็น เจ้าหนี้ในฐานะที่มีสิทธิเรียกค่าสินค้าจากผู้ซื้อได้  และเป็นลูกหนี้ของผู้ซื้อในอันที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อ  ส่วนผู้ซื้อ  ผู้ซื้อย่อมเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาสินค้าแก่ผู้ขาย และเป็นเจ้าหนี้ในฐานะที่มีสิทธิขอให้ผู้ขายส่งมอบสินค้าให้แก่ตน  นอกจากนี้ สัญญาอื่นที่เป็นสัญญาต่างตอบแทน ได้แก่ สัญญาแลกเปลี่ยน  สัญญาให้ที่มีค่าตอบแทน  สัญญาเช่าทรัพย์  สัญญาเช่าซื้อ  สัญญาจ้างแรงงาน  เป็นต้น สัญญาไม่ต่างตอบแทน เป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว  โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้  มิใช่ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  เช่น  สัญญายืมโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นหน้าที่ของผู้ยืมที่จะต้องคืนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม  โดยที่ผู้ให้ยืมไม่มีหน้าที่ต้องตอบแทนผู้ยืมแต่
อย่างใด  หรือกรณีสัญญามีค่าตอบแทนแต่มิได้มีลักษณะเป็นการต่างตอบแทนกัน ก็จัดว่าเป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน  เช่น  สัญญากู้ยืมเงินมีดอกเบี้ย  เป็นต้น
             3.  สัญญาประธานและสัญญาอุปกรณ์
             สัญญาประธาน คือ สัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาอื่น  ประกอบเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ใช้ได้ของสัญญา เช่น  สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ สัญญาประกันภัย  สัญญากู้ยืมเงิน  เป็นต้น  สัญญาอุปกรณ์ คือ สัญญาที่มิอาจเกิดขึ้นและมิอาจมีผลสมบูรณ์ได้โดยลำพังแต่จะต้องอาศัยสัญญาอื่น  ซึ่งเป็นสัญญาประธาน  ดังนั้น  ความสมบูรณ์ของสัญญาอุปกรณ์ย่อมขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธาน เช่น  สัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินจะมีขึ้นโดยลำพังไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะมีได้ก็จะต้องมีสัญญาประธานคือ สัญญากู้ยืมเงินเกิดขึ้นก่อน
             4.  สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก
             สัญญาประเภทนี้มีลักษณะพิเศษต่างจากสัญญาทั่วไป  กล่าวคือ  สัญญาทั่วไปมีผลผูกพันและให้ประโยชน์เฉพาะแก่คู่สัญญาเท่านั้น แต่สัญญาประเภทนี้จะกำหนดให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์ได้  โดยที่บุคคลผู้นั้นไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด  เช่น  สัญญาประกันชีวิต  เมื่อผู้รับประกันและผู้เอาประกันตกลงทำสัญญา ผู้เอาประกันจะต้องระบุชื่อบุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์เมื่อเกิดกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต เป็นต้น

ที่มา  law.dpu.ac.th/upload/content/files/13.Doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฝึกหัดบทที่ 14

แบบฝึกหัดบทที่ 14  เรื่องกฎหมายโรงงาน และการจัดตั้งโรงงาน 1. โรงงานคืออะไร     ก . อาคาร สถานที่หรือยานพาหนะ     ข. ใช้เครื่องจัก...