นิติกรรม
นิติกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
เนื่องจากเป็นสิ่งที่บุคคลใช้สร้างสิทธิและหน้าที่ต่อกันได้อย่างอิสระโดยสมัครใจภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
นิติกรรมถือเป็นพื้นฐานของการศึกษากฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องสัญญาต่างๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขาย
สัญญาให้ สัญญาเช่า สัญญาจ้างแรงงาน จ้างทำของ การสมรส หรือสัญญาอื่นๆ
ถือเป็นการทำนิติกรรมทั้งสิ้น
"นิติกรรมนั้นเป็นเครื่องมือซึ่งกฎหมายมอบให้แก่บุคคล
เพื่อใช้สร้างสิทธิและหน้าที่ผูกพันได้ตามความสมัครใจภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย"
(ศาสตราจารย์ ศักดิ์ สนองชาติ
คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา)
ความหมายของนิติกรรม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 149 "นิติกรรม หมายความว่า
การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร
มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน
หรือระงับซึ่งสิทธิ"
ความหมายของนิติกรรมตามมาตรา
149 นั้น แยกสาระสำคัญออกมาได้ดังนี้
1.
เป็นการกระทำของบุคคลซึ่งได้แสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้หรือเข้าใจความประสงค์หรือความต้องการของตน
ซึ่งเราเรียกการแสดงออกนี้ว่า "การแสดงเจตนา"
2.
การกระทำนี้ต้องที่ชอบด้วยกฎหมาย คือการกระทำที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
3.
การกระทำนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจของผู้กระทำ คือเกิดจากความตั้งใจ
ความยินยอมของผู้กระทำนั้นเอง
4.
ต้องกระทำโดยมีความมุ่งหมายที่จะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล นิติสัมพันธ์คือความผูกพันกันตามกฎหมาย
ดังนั้นการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลย่อมมีความหมายถึง
การที่บุคคลเข้ามามีความผูกพันกันตามกฎหมายซึ่งเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นด้วยความประสงค์ของบุคคลนั้นๆเองและทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน
ไม่ใช่เกิดจากการที่กฎหมายกำหนดความผูกพันนั้น เช่น ในเรื่องของบิดามารดาและบุตร
กฎหมายกำหนดไว้ว่าบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร
สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเนื่องจากกฎหมาย
ไม่ใช่เกิดจากการที่บุคคลกระทำการโดยมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมายด้วยตนเอง
ฯลฯ
หากการกระทำใดผู้กระทำไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความผูกพันตามกฎหมาย
การกระทำนั้นก็ไม่ถือเป็นนิติกรรม เช่น การชวนไปเที่ยว ชวนไปดูหนัง
หรือพูดจาล้อเล่นกัน
การกระทำดังผู้กระทำไม่ได้มุ่งที่จะก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมาย
หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันก็จำไปฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
5.
ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการ "เคลื่อนไหวในสิทธิ" คือ
ก่อให้เกิดสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ
การเคลื่อนไหวในสิทธินี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวในบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิก็ได้
การกระทำใดๆที่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ การกระทำนั้นย่อมไม่ใช่นิติกรรม
ประเภทของนิติกรรม
นิติกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาด้านใด เช่น
1.
นิติกรรมฝ่ายเดียวกับนิติกรรมสองฝ่าย
นิติกรรมฝ่ายเดียวคือการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวซึ่งครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา 149
ทำให้เกิดเป็นนิติกรรมและมีผลทางกฎหมาย เช่น การทำพินัยกรรม การรับสภาพหนี้
การปลดหนี้ ฯลฯ
ส่วนนิติกรรมสองฝ่าย(หรืออาจจะเป็นหลายฝ่ายก็ได้)คือการการแสดงเจตนาโต้ของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป(ฝ่ายหนึ่งอาจมีหลายคนก็ได้)
ซึ่งก่อให้เกิดเป็นสัญญาประเภทต่างๆขึ้น การแสดงเจตนาโต้ตอบกันที่จะถือเป็นสัญญา(นิติกรรมสองฝ่าย)นั้น
ต้องเป็นการยอมรับการแสดงเจตนาของกันและกันด้วย สัญญาจึงจะเกิด เช่น ก
เสนอขายรถแก่ ข เช่นนี้ถือว่า การเสนอขายนั้นเป็นนิติกรรม (นิติกรรมฝ่ายเดียว) หาก
ข ปฏิเสธ(ซึ่งถือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวเช่นกัน)ไม่ยอมซื้อแสดงว่าการแสดงเจตนาโต้ตอบนั้นไม่ตรงกัน
สัญญาซื้อขายก็ไม่เกิด แต่ถ้า ข ตกลงจะซื้อ
การแสดงเจตนาของทั้งคู่ถือเป็นการรับกัน
สัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้น(ทำให้จากนิติกรรมฝ่ายเดียวก็กลายเป็นนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นมา)
2.
นิติกรรมที่มีค่าตอบแทนกับนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน เป็นกรณีที่พิจารณาถึงค่าตอบแทนเป็นหลักนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนจะต้องเป็นนิติกรรมที่ทำให้เปล่า
เช่น สัญญาให้ การทำพินัยกรรม สัญญาฝากทรัพย์โดยไม่มีบำเหน็จ ฯลฯ
ส่วนนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ค่าตอบแทนอาจเป็นเงิน
ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดก็ได้ เช่น สัญญาจ้างแรงงาน สัญญากู้ยืมเงินที่มีการคิดดอกเบี้ย
สัญญาซื้อขาย ฯลฯ
3.
นิติกรรมที่ไม่มีแบบและนิติกรรมที่มีแบบ
นิติกรรมที่ไม่มีแบบนั้นถือว่าเมื่อได้ทำนิติกรรมแล้วก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทันที
แม้จะไม่มีหลักฐานการทำสัญญาใดๆเลยก็ตาม
และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย เช่น สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ ฯลฯ
ส่วนนิติกรรมที่มีแบบนั้นจะมีผลสมบูณ์ได้ก็ต่อเมื่อทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
เช่นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้าไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็เป็นโมฆะ หรือสัญญาเช่าซื้อต้องมีการทำเป็นหนังสือสัญญามิเช่นนั้นจะเป็นโมฆะ
ฯลฯ
ที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/knownledgelaw/2008/01/18/entry-1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น